วันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

MYOMA UTERI From GYNE Ward

นื้องอกมดลูกพบได้มากน้อยเพียงใด? เนื้องอกมดลูกเป็นโรคที่พบได้บ่อย ในสตรี 4 คนจะพบว่ามี 1 คนเป็นเนื้องอกมดลูกโดยมักพบในวัยเจริญพันธุ์ (วัยยังมีประจำเดือน) และพบบ่อย ในช่วงอายุ 30-50 ปี ในผู้ที่ไม่เคยมีบุตร ในผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากโดยเฉพาะมากกว่า 70 กิโลกรัม และในผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นเนื้องอกมดลูก ส่วนในผู้หญิงที่หมดประจำเดือนแล้วมักไม่เป็นเนื้องอกมดลูก ผู้ที่เป็นเนื้องอกมดลูก มักจะมีก้อนเนื้องอกจำนวนหลายๆก้อนและมีขนาดต่างๆกัน อย่าง ไรก็ตาม ในบางรายอาจพบว่า มีเนื้องอกเพียงก้อนเดียวได้ สาเหตุของการเกิดเนื้องอกมดลูกคืออะไร เนื้องอกมดลูกเป็นโรคที่มีการเจริญมากผิดปกติของกล้ามเนื้อมดลูก สาเหตุของการเกิดโรคที่แท้จริงยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่พบว่าการเติบโตของเนื้องอกมีความสัมพันธ์กับระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สร้างจากรังไข่ ในขณะตั้งครรภ์ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ฮอร์โมนเอสโตรเจนมีระดับที่สูงขึ้น เนื้องอกมดลูกส่วนใหญ่ก็มักจะมีขนาดโตขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ด้วย ส่วนในวัยหลังหมดประจำเดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ฮอร์โมนเอสโตรเจนมีระดับลดต่ำลงมาก เนื้องอกมดลูกก็มักจะฝ่อตัวเล็กลงในวัยนี้ สัมพันธ์กับระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลง อาการและปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นจากเนื้องอกมดลูกมีอะไรบ้าง? เนื้องอกมดลูกนั้น เป็นโรคที่ไม่ร้ายแรงและไม่ใช่โรคมะเร็ง โอกาสในการเปลี่ยนแปลงกลายเป็นมะเร็งในอนาคตเกิดขึ้นน้อยกว่า 1% อย่างไรก็ตาม ก้อนเนื้องอกมดลูกในบางตำ แหน่งและขนาดที่ใหญ่อาจไปกดอวัยวะข้างเคียง เช่น กระเพาะปัสสาวะ ท่อไต หรือลำไส้ และทำให้เกิดอาการหรือความผิดปกติตามมาได้ เช่น ปัสสาวะบ่อย การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ การทำงานของไตบกพร่อง และท้องผูก เป็นต้น ในกลุ่มผู้ที่เป็นเนื้องอกมดลูกจะมีเพียงประมาณ 50% ที่จะมีอาการของโรคเกิดขึ้น ดังนั้นผู้หญิงที่มีเนื้องอกมดลูกหลายๆคนจึงไม่ทันรู้ตัวว่าตัวเองเป็นโรคเนื้องอกมดลูกแล้ว ทั้งนี้เพราะไม่มีอาการ หรือความผิดปกติทางร่างกายปรากฏให้เห็นนั่นเอง ดังนั้นเราจึงพบได้บ่อยครั้งว่า ผู้ หญิงรู้ตัวว่าเป็นเนื้องอกมดลูกก็เมื่อเข้ารับการตรวจร่างกายประจำปี ไม่ว่าจะเป็นการตรวจภาย ในหรือการตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องหรือทางช่องคลอดก็ตาม ซึ่งเมื่อมีอาการ อาการของเนื้องอกมดลูกที่พบมีดังต่อไปนี้ •ประจำเดือนมามากหรือปวดประจำเดือนประจำเดือนมามากกว่าปกติ และในบางครั้งก็ทำให้มีอาการปวดประจำเดือนเพิ่มขึ้น การที่มีประจำเดือนออกมากอาจจะทำให้เกิดภาวะซีด เพราะขาดธาตุเหล็ก (โลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก) ซึ่งการรับ ประทานธาตุเหล็กทดแทนจะช่วยรักษาภาวะซีดอันเนื่องมาจากการที่มีประจำเดือนมามากได้ เนื้องอกมดลูกอาจจะทำให้มี •อาการท้องอืดเฟ้อ ในกรณีที่ก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่ ผู้ป่วยอาจรู้สึกอึดอัด แน่นท้อง ท้องบวม หรือท้องโตขึ้น โดยเฉพาะที่บริเวณส่วนล่างของช่องท้อง (ช่องท้องน้อย/อุ้งเชิงกราน) ในบางรายอาจมีอาการปวดหลังร่วมด้วยได้ •อาการของระบบทางเดินปัสสาวะและของระบบทางเดินอาหาร ตัวก้อนเนื้องอกที่โตยื่นมาทางหน้าท้อง หรือตัวก้อนเนื้องอกเบียดดันมดลูกมาทางหน้าท้อง อาจทำให้กระเพาะปัสสาวะซึ่งอยู่ด้านหน้าของมดลูกถูกกด ลักษณะดังกล่าวจะทำให้ผู้ป่วยปัสสาวะบ่อยขึ้นมาก กว่าปกติ ในบางครั้งถ้าก้อนเนื้องอกหรือมดลูกโตยื่นไปทางด้านหลังของช่องท้อง ก็จะทำให้เกิดการกดเบียดลำไส้ตรง (ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ส่วนที่ต่อกับทวารหนัก) และทวารหนัก ลักษณะดังกล่าวก็อาจส่งผลให้เกิดอาการท้องผูกได้เช่นกัน •อาการเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ ในกรณีที่ก้อนเนื้องอกโตยื่นไปในช่องคลอดหรือเป็นเนื้องอกที่ตำแหน่งปากมดลูก อาการหรือความผิดปกติที่อาจพบได้แก่ อาการปวดหรือเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ •มีบุตรยากและแท้งบุตรง่าย ถ้าก้อนเนื้องอกโตยื่นเข้าไปในโพรงมดลูก อาจก่อให้ เกิดการอุดตันของท่อนำไข่ได้ หรือขัดขวางการฝังตัวของตัวอ่อน และอาจทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากหรือแท้งตามมาได้ แต่ปัญหาดังกล่าวพบได้น้อย •ภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม การตั้งครรภ์ขณะที่มีเนื้องอกมดลูก เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มีโอกาสในการผ่าตัดคลอดบุตรทางหน้าท้องเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพราะทารกอาจอยู่ผิดท่า หรือก้อนเนื้องอกขัดขวางการคลอดทางช่องคลอดได้ ส่วนใหญ่แล้ว การมีก้อนเนื้องอกในมดลูกไม่ได้ส่งผลเสียต่อการตั้งครรภ์มากนัก ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ ได้แก่ อาการปวดที่ก้อนเนื้องอก อันเนื่องมาจากก้อนเนื้อโตเร็วมากในช่วงตั้งครรภ์ จากมีฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นมาก ทำให้เลือดมาเลี้ยงก้อนเนื้อไม่ทัน หรืออาจเกิดจากการบิดขั้วของตัวก้อนเนื้องอก ซึ่งในกรณีหลังนี้พบได้น้อย การป้องกันการเกิดเนื้องอกมดลูกทำได้อย่างไรบ้าง? ในปัจจุบัน สาเหตุของการเกิดเนื้องอกมดลูกยังไม่ทราบแน่ชัด อย่างไรก็ดี ฮอร์โมนเอส โตรเจนน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดเนื้องอกมดลูก มีความเป็นไปได้สูงที่ว่าเนื้องอกมดลูกนั้น เป็นโรคหนึ่งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ดังนั้นการป้องกันการเกิดโรคในบางครั้งอาจทำได้ค่อนข้างยาก อย่างไรก็ตาม แนวทางในการป้องกันอาจทำได้ดังนี้ 1.วิธีคุมกำเนิด ในผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นเนื้องอกมดลูก หากต้องการคุมกำเนิด อาจเลือกการใส่ห่วงหรือใช้ถุงยางอนามัยหรือการใช้ยาฉีด ยาฝัง ที่มีฮอร์โมนโปรเจสติน (Progestin) แทนการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน 2.ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพราะดังกล่าวแล้วว่า โรคนี้พบได้สูงขึ้นในคนมีน้ำหนักตัวเกิน 3.รับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ เพราะไขมันจะเป็นแหล่งในการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน ดังนั้นถ้ามีปริมาณไขมันในร่างกายเพิ่มพูนมากขึ้น ปริมาณของฮอร์โมนเอสโตรเจนก็จะมากขึ้นด้วย 4.ออกกำลังกายแบบแอโรบิค 4-5 ครั้งต่อสัปดาห์ ซึ่งจะช่วยในการปรับสมดุลของฮอร์ โมนได้ 5.ลดหรือหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีสารที่ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน เช่น แยม (Jam) หรือเจลลี (Jelly) บางชนิด ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง หรือสมุนไพรบางชนิด เช่น โสมบางชนิด การวินิจฉัยเนื้องอกมดลูกทำได้อย่างไร? การตรวจวินิจฉัยเนื้องอกมดลูกทำได้หลายวิธี วิธีที่เป็นที่นิยม ได้แก่ การตรวจภายในโดยสูตินรีแพทย์ และการตรวจอัลตราซาวด์ทางหน้าท้องหรือทางช่องคลอด การทำอัลตราซาวด์นั้น จะช่วยบอกว่า อาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยหรือก้อนที่คลำได้จากการตรวจนั้น เกิดจากเนื้องอกมดลูกจริง ไม่ใช่โรคหรือก้อนที่เกิดจากโรคอื่น วิธีการรักษาเนื้องอกมดลูกมีอะไรบ้าง? แนวทางการรักษาเนื้องอกมดลูก ได้แก่ 1.การสังเกตอาการ การรักษาด้วยวิธีนี้จะทำในกรณีที่เนื้องอกมดลูกไม่ได้ก่อให้เกิดอาการหรือความผิดปกติกับร่างกาย ในผู้ป่วยหลายๆราย ถึงแม้จะมีอาการ หรือความผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกายบ้าง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งผลกระทบที่ร้ายแรงใดๆทั้งต่อการดำเนินชีวิต ประจำวัน หรือต่อสุขภาพในระยะยาว ก็อาจเลือกรักษาด้วยการสังเกตอาการได้ ทั้งนี้เพราะก้อนเนื้องอกที่พบจะมีขนาดเล็กลงหรือฝ่อตัวลงได้เมื่อผู้หญิงเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ดังนั้นอาการหรือความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายก็จะหายไปด้วยในที่สุด ในช่วงเวลาของการสังเกตอาการนี้ สูตินรีแพทย์อาจทำการนัดตรวจเป็นระยะทุก 3-6 เดือน โดยอาจตรวจภายใน หรืออัลตราซาวด์ร่วมด้วย และในช่วงการติดตามนี้หากผู้ป่วยมีอาการ หรือมีความผิดปกติรุนแรงขึ้น หรือก้อนเนื้องอกโตขึ้นเร็ว สูตินรีแพทย์ก็อาจแนะนำให้ทำการรักษาด้วยวิธีอื่นต่อไปตามความเหมาะสม 2.การใช้ยารักษา ในปัจจุบัน ทางการแพทย์ไม่มียาที่สามารถจะรักษาเนื้องอกมดลูกให้หายขาดได้ ยาที่ใช้ทั่วไปจะเป็นยาที่ช่วยทำให้อาการต่างๆดีขึ้น หรือช่วยให้ก้อนเนื้องอกลดขนาดลงชั่วคราว 1.การใช้ยารักษาเพื่อบรรเทาอาการ ได้แก่ ยาที่ใช้ลดปริมาณประจำเดือน ซึ่งอาจใช้ได้ผลดีในบางรายแต่มักจะไม่ได้ผลในรายที่มีก้อนเนื้องอกขนาดใหญ่ๆ 1.Tranexamic acid รับประทาน 3-4 ครั้งต่อวัน ตลอดช่วงที่กำลังมีประจำเดือนจะสามารถช่วยลดปริมาณประจำเดือนลงได้ 2.ยาต้านการอักเสบ (Anti-inflammatory medicines) เช่น Ibuprofen และ Mefenamic acid ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการปวดได้เมื่อรับประทานยา และสามารถใช้ยาเฉพาะในวันที่มีอาการปวดประจำเดือนเท่านั้นก็ได้ ยาในกลุ่มนี้จะช่วยลดระดับของสารพรอสต้าแกลนดิน (Prostaglandin) ในโพรงมดลูก 3.ยาเม็ดคุมกำเนิด จะช่วยลดทั้งปริมาณและอาการปวดประจำเดือน 4.การใส่ห่วงอนามัยที่มีฮอร์โมนลีโวนอร์เจสเทรลบรรจุอยู่ในห่วง (Levonorgestrel intrauterine system;LNG-IUS) เข้าไปในโพรงมดลูก การใส่ห่วงอนามัยชนิดนี้ภายในโพรงมดลูกจะก่อให้เกิดการหลั่งของฮอร์โมนโปรเจสโตเจน (Progestrogen) ที่มีชื่อเรียกว่าลีโวนอร์เจสเทรลออกจากห่วงทีละน้อยๆอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะส่งผลให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางตัวลง จึงสามารถช่วยลดปริมาณประจำเดือนลงได้ อย่างไรก็ตาม การใส่ห่วงชนิดนี้ในผู้ที่มีเนื้องอกอาจทำได้ไม่ง่ายนัก เนื่องจากก้อนเนื้องอกอาจขวางทาง ทำให้ใส่ห่วงได้ยากกว่าปกติ 2.การใช้ยารักษาเพื่อให้ก้อนเนื้องอกมีขนาดเล็กลง เช่น การใช้ยาที่ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนที่กระตุ้นให้มีการหลั่งของโกนาโดโทรปิน มีชื่อเรียกว่า gonadotrophin-releasing hormone (GnRH) analogue ยาตัวนี้จะทำให้ระดับเอสโตรเจนในร่างกายลดลง ก้อนเนื้องอกจึงยุบลงได้ จึงทำให้อาการผิดปกติต่างๆที่พบ เช่น ประจำเดือนมามาก ปวดประจำเดือน หรืออาการที่ก้อนเนื้องอกไปกดทับอวัยวะต่างๆ เช่น กระเพาะปัสสาวะ ไส้ตรง หรือทวารหนักหายไปในขณะที่ใช้ยา อย่างไรก็ตาม การที่ระดับเอสโตรเจนลดลงนั้นก็ทำให้เกิดอาการต่างๆเหมือนผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เช่น ร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมาก อีกทั้งยังส่งผลเสียต่อระบบอื่นๆของร่างกาย ที่สำคัญคือ ทำให้เกิดการสูญเสียมวลกระดูกอย่างรวดเร็วจนอาจทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้ ดังนั้นการใช้ยาตัวนี้จึงควรใช้ไม่นานเกิน 6 เดือน โดยทั่วไปแล้ว การใช้ยาในกลุ่มนี้มักใช้เพียงชั่วคราว 3-6 เดือน เพื่อช่วยลดขนาดของก้อนและทำให้สามารถทำการผ่าตัดได้ง่ายขึ้น 3.การผ่าตัดรักษา ในปัจจุบันการผ่าตัดรักษาทำได้หลายวิธี ดังนี้ 1.การตัดมดลูก เป็นวิธีการรักษามาตรฐานที่ใช้กันมานาน และเป็นวิธีที่นิยมที่สุดในปัจจุบัน นิยมใช้ในการรักษาเนื้องอกมดลูกที่ก่อให้เกิดอาการ หรือความผิดปกติของร่างกาย และเป็นการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่บุตรเพียงพอแล้ว 2.การตัดเอาเฉพาะก้อนเนื้องอกออก (Myomectomy) เป็นวิธีที่นิยมในผู้ที่ยังต้องการมีบุตรในอนาคต การผ่าตัดนี้จะเอาเฉพาะก้อนเนื้องอกออกแต่ยังเหลือมดลูกไว้ อย่างไรก็ดี การผ่าตัดด้วยวิธีนี้อาจไม่ประสบความสำเร็จในทุกคน บางรายหากมีการเสียเลือดมากอาจต้องลงท้ายด้วยการตัดมดลูก การผ่าตัดเอาเฉพาะก้อนเนื้องอกออกนี้ อาจทำได้โดยการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง ผ่าตัดผ่านกล้องส่องทางหน้าท้อง (การผ่าตัดผ่านทางกล้อง) หรือการผ่าตัดผ่านกล้องส่องผ่านเข้าไปในโพรงมดลูก การจะผ่าตัดในลักษณะใดขึ้นกับขนาด จำนวนและตำแหน่งของก้อนเนื้องอก ตลอดจนความชำนาญของแพทย์และความพร้อมของอุปกรณ์ในแต่ละสถาน ที่ให้บริการ สิ่งสำคัญที่ควรทราบคือ การกลับเป็นซ้ำของเนื้องอกภายหลังจากการผ่าตัดแล้ว พบได้ค่อนข้างบ่อย 3.การทำให้หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงมดลูกและก้อนเนื้องอกเกิดการอุดตัน (Uterine artery embolisation) การรักษาด้วยวิธีนี้ให้การรักษาโดยรังสีแพทย์ที่ชำนาญเฉพาะทาง วิธีการรักษาทำโดยการใช้สายสวนเข้าไปในหลอดเลือดแดงที่ขาแล้วสอดต่อไปยังหลอดเลือดแดงที่เลี้ยงมดลูก แล้วสอดต่อไปยังหลอดเลือดแดงที่เลี้ยงเฉพาะก้อนเนื้องอกด้วย โดยใช้ภาพถ่ายเอ็กซ์เรย์ช่วยนำทางในการสอดสายสวน หลังจากที่ได้ตำแหน่งหลอดเลือดแดงที่ต้องการ รังสีแพทย์ก็จะฉีดสารเข้าไปในสายสวนเพื่อก่อให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงก้อนเนื้องอก ทำให้ก้อนเนื้องอกขาดเลือดและลดขนาดลงในที่สุด ซึ่งโดยส่วนใหญ่ใช้ระยะเวลาประมาณ 6-9 เดือน อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยมักจะสังเกตว่าอาการที่เคยเป็นมักจะดีขึ้นภายใน 3 เดือน อย่างไรก็ดี อาจมีผู้ป่วยบางรายที่ไม่หายจากการรักษาด้วยวิธีนี้ 4.วิธีรักษาอื่นๆ การรักษาโดยใช้เลเซอร์ (Laser) หรือคลื่นเสียงความถี่ต่ำทำลายก้อนเนื้องอกขณะที่ใช้การเอ็กซ์เรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic resonance imaging;MRI) ช่วยในการระบุตำแหน่งในการแทงเข็มผ่านผิวหนังเข้าไปที่ตรงกลางของก้อนเนื้องอก จัดเป็นวิ ธีการใหม่ที่ใช้ในการรักษา โดยพลังงานจากเลเซอร์ หรือจากคลื่นเสียงความถี่ต่ำ จะถ่ายทอดผ่านเข็มดังกล่าวเข้าไปทำลายก้อนเนื้องอก วิธีการนี้ไม่สามารถใช้ได้กับเนื้องอกมดลูกทั้งหมด และในปัจจุบันประโยชน์ และโทษจากการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวก็ยังไม่เป็นที่ปรากฏชัดเจน ควรปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อสงสัยเป็นเนื้องอกมดลูก? ในผู้หญิงปกติที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุกปี และหนึ่งในขั้นตอนของการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก สูตินรีแพทย์ส่วนใหญ่ก็มักจะตรวจภายในเพื่อตรวจหาความผิดปกติของมดลูกและปีกมดลูกให้ด้วย ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น ผู้ที่เป็นเนื้องอกมดลูกมีเพียง 50% ที่จะมีอาการผิดปกติ ดังนั้นการตรวจภายในประจำปีจะสามารถช่วยวินิจฉัยเนื้องอกมดลูกในกลุ่มที่ไม่มีอาการผิดปกติได้ สำหรับผู้หญิงที่มีประจำเดือนผิดปกติ หรือมีลักษณะเลือดประจำเดือนออกเป็นก้อนจากที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ปวดประจำเดือนมากกว่าที่เคยเป็น หรือมีอาการปวดร้าวไปที่ตำแหน่งอื่นทั้งที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หรืออาจคลำได้ก้อนในท้อง ท้องอืด หรือท้องโตขึ้น ควรรีบปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจภายใน หรืออัลตราซาวด์เพื่อการวินิจฉัยโรค สำหรับผู้ที่เป็นเนื้องอกมดลูกแล้ว และตัดสินใจที่จะรักษาโดยการสังเกตอาการ อาการที่ต้องสังเกตและรายงานต่อแพทย์สำหรับการนัดตรวจครั้งต่อไป คือ ปริมาณและลักษณะของประจำเดือน อาการปวดประจำเดือน การขับถ่ายปัสสาวะและอุจจาระ ตลอดจนอาการปวดท้อง และการโตขึ้นของก้อนเนื้องอกหากสามารถคลำได้ด้วยตน

วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

รู้ทัน .......มะเร

การตรวจเต้านมด้วยตัวเอง การตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ - 80% ของก้อนที่พบบริเวณเต้านมไม่ใช่มะเร็ง - 80% ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทั้งหมด จะมาด้วยอาการพบก้อนที่บริเวณเต้านมและก้อนที่พบเหล่านี้ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะ ตรวจพบหรือคลำได้ด้วยตัวเองไม่ใช่จากแพทย์ ทำไมจึงต้องตรวจเต้านมด้วยตนเอง การ ตรวจพบความผิดปกติบริเวณเต้านม เช่น คลำก้อนได้เมื่อมีขนาดเล็ก ก็หมายความว่าแพทย์สามารถจะรักษาได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ซึ่งการรักษาจะได้ผลดีมาก การตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ - คุณรู้ว่า เต้านมปกติของคุณเป็นอย่างไร - คุณรู้ว่ามีอะไรผิดปกติเกิดขึ้นกับเต้านมของคุณ - ก้อนที่บริเวณเต้านมไม่ใช่มะเร็งทั้งหมด บางก้อนอาจเป็นซีสท์ (Cyst) หรือถุงน้ำ บางชนิดเป็นแค่เนื้องอกธรรมดา และที่สำคัญที่สุดคือ ก้อนเนื้อบางก้อนแม้จะเจ็บหรือไม่เจ็บก็อาจเป็นมะเร็งได้ ขนาดของก้อนเนื้อที่ตรวจพบบริเวณเต้านม - ผู้หญิงที่ตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำจะสามารถตรวจพบก้อนบริเวณเต้านมได้ขนาดประมาณประมาณ 2 เซนติเมตร - ผู้หญิงที่ตรวจเต้านมด้วยตนเองไม่สม่ำเสมอจะสามารถตรวจพบก้อนได้ขนาดประมาณ 2.5 เซนติเมตร - ผู้หญิงที่ไม่เคยตรวจเต้านมด้วยตนเองจะพบก้อนที่เต้านมขนาดประมาณ 4 เซนติเมตร ควรตรวจเต้านมตนเองบ่อยแค่ไหน? ผู้หญิงทุกคน ควรตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง คุณจะตรวจเต้านมในช่วงไหน? - ถ้าคุณยังอยู่ในวัยที่มีประจำเดือน ช่วงเวลาที่เหมาะที่สุดในการตรวจเต้านมด้วยตนเอง คือ ประมาณวันที่ 7-10 นับจากวันแรกของรอบเดือน ช่วงนี้เต้านมของคุณจะหายบวมหรือหายคัดไปแล้ว ทำให้ตรวจพบความผิดปกติได้ง่ายขึ้น - ถ้าคุณอยู่ในวัยที่ประจำเดือนหมดไปแล้ว เลือกวันไหนก็ได้ที่สะดวกแล้วทำเป็นประจำ เช่น เลือกวันแรกของเดือนซึ่งเป็นวันที่จำง่ายที่สุด ถ้าคุณลืมตรวจก็ให้รีบตรวจเต้านมของคุณในวันที่นึกขึ้นได้ดีกว่าที่จะผ่าน ไปอีก 1 เดือน - ถ้าคุณถูกตัดมดลูกไปแล้วและอายุยังน้อยกว่า 50 ปี จะตรวจเต้านมวันไหน? คุณควรเลือกวันที่คุณไม่มีอาการปวดหรือคัดเต้านม ขั้นตอนการตรวจเต้านมด้วยตนเอง 1.การมอง เพื่อมองหาสิ่งผิดปกติบริเวณเต้านม ยืนหน้ากระจก ก. ยืนตรงแขนชิดลำตัว มองเปรียบเทียบบริเวณเต้านมทั้งสองข้างเพื่อค้นหาสิ่งผิดปกติ โดยดูขนาด รูปร่าง รอยบุ๋ม รอยย่น รวมทั้งดูสีของผิวหนังและบริเวณปานนม ข. ยกแขนขึ้นเหนือศีรษะ ดูเต้านมทั้งสองข้างเหมือนข้อ ก. ร่วมกับการขยับแขนขึ้น-ลง ค. วางมือบนเอวทั้งสองข้าง กดและปล่อยร่วมกับการเกร็งกล้ามเนื้อหน้าอกสังเกตความผิดปกติบริเวณเต้านมทั้งสองข้าง ง. อย่าลืมบีบหัวนมเพื่อดูว่ามีน้ำเลือด หรือน้ำเมือกที่ผิดปกติออกจากหัวนมหรือไม่ และควรรีบพบแพทย์เมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้น 2.การตรวจเต้านม ขั้นตอนที่ 1 ตรวจในขณะอาบน้ำ ใช้ นิ้วมือวางราบบนเต้านม คลำและเคลื่อนนิ้วมือในลักษณะคลึงเบาๆ ให้ทั่วทุกส่วนของเต้านมทีละข้าง เพื่อค้นหาก้อนหรือเนื้อที่แข็งเป็นไตผิดปกติ บริเวณ ที่พบอัตราการเกิดมะเร็งเต้านมบ่อยที่สุด คือ บริเวณส่วนบนด้านนอกของเต้านม ฉะนั้นจึงควรให้ความสนใจในการตรวจบริเวณดังกล่าวเป็นพิเศษ ควรคลำบริเวณใต้รักแร้ และเหนือกระดูกไหปลาร้าทั้งสองข้างด้วย ว่ามีก้อนต่อมน้ำเหลืองที่โตผิดปรกติหรือไม่ ขั้นตอนที่ 2 ตรวจหน้ากระจก ยืน ตรงมือแนบลำตัว แล้วยกแขนขึ้นสูงเหนือศีรษะ สังเกตลักษณะของเต้านมทั้งสองข้าง การเคลื่อนยกแขนขึ้นนั้นสามารถมองเห็นความผิดปกติได้ง่าย ยก มือเท้าเอว เอามือกดสะโพกแรงๆ เพื่อให้เกิดการเกร็งและหดตัวของกล้ามเนื้ออก แล้วสังเกตดูลักษณะผิดปกติ ทั้งขนาดของเต้า หัวนม โดยดูรวมถึงรอยบุ๋ม รอยหดรั้งต่างๆ ที่ผิดปกติด้วย ขั้นตอนที่ 3 การตรวจในท่านอน นอน ราบยกมือข้างหนึ่งไว้ใต้ศีรษะ แล้วใช้มืออีกข้างหนึ่งตรวจคลำให้ทั่วทุกส่วนของเต้านมทีละข้าง ระหว่างตรวจต้องคอยสังเกตถึงความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ก้อนแข็ง ก้อนนิ่ม หรือความเจ็บต่างๆ ที่เกิดขึ้น การ ตรวจเริ่มจากบริเวณส่วนนอกและเหนือสุดของเต้านม (จาก X ในภาพ) เวียนไปโดยรอบเต้านมเคลื่อนมือเข้ามาเป็นวงแคบเข้าจนถึงบริเวณเต้านม พยายามตรวจให้ทั่วทุกส่วน หลัง จากตรวจเต้านมในท่าต่างๆ แล้ว ค่อยๆ บีบหัวนมเบาๆ โดยใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ เพื่อสังเกตดูว่ามีสิ่งผิดปกติซึ่งจะไหลออกมาว่ามีหรือไม่

วันอังคารที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2555

การคุมกำเนิดในวัยรุ่น Contraception in the Aldolescent จากการประชุม Empowering Woman : Challenge โดยสมาคมอนามัยเจริญพันธุ์ แห่งประเทศไทย

ปัจจุบันวัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์กันมากขึ้นและเร็วขึ้น จึงเกิดการตั้งครรภ์ในขณะที่ร่างกายและจิตใจยังไม่พร้อม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการตั้งครรภ์ไม่พึงปรารถนา และนำไปสู่การทำแท้ง ทำให้มีผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจตามมา การให้ความรู้เรื่องการคุมกำเนิดในวัยรุ่นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้ วัยรุ่นส่วนใหญ่มีความรู้เรื่องการคุมกำเนิดไม่มาก ส่วนใหญ่รู้จักการใช้ถุงยางอนามัย ยาเม็ดคุมกำเนิด และยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน แต่มักไม่รู้และไม่ทราบวิธีการที่ถูกต้อง โดยพบว่าอัตราการใช้การคุมกำเนิดอย่างสม่ำเสมอทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์จะต่ำมาก การคุมกำเนิดในวัยรุ่นที่เหมาะสมควรเลือกการคุมกำเนิดแบบชั่วคราว มีภาวะแทรกซ้อนน้อย ใช้ง่าย ราคาถูก หาซื้อได้ง่าย เพราะวัยรุ่นมักอายไม่กล้าไปปรึกษาแพทย์ วิธีการคุมกำเนิดสำหรับวัยรุ่นที่แนะนำ ได้แก่ 1. ถุงยางอนามัย สามารถป้องกันการตั้งครรภ์และการป้องกันการแพร่กระจายของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การใช้ถุงยางที่ถูกวิธี ต้องบีบไล่ลมออกจากปลายกระเปาะของถุงยางเพื่อเป็นที่ว่างรองรับน้ำอสุจิ โยบีบไว้จนกระทั่งสวมถุงยางอนามัยเสร็จและต้องใส่และถอดออกในขณะที่องคชาติยังแข็งตัว ถ้าถอดถุงยางอนามัยเมื่ออวัยวะเพศอ่อนตัว เมื่อมีการหลั่งน้ำอสุจิ อาจไหลออกมาเปื้อนช่องคลอด การคุมกำเนิดก็จะล้มเหลว 2. ยาเม็ดคุมกำเนิด ถ้าใช้ชนิดที่มีเอสโตรเจนสูงอาจมีผลต่อการปิดของ epiphyseal plate ของ long bone ทำให้ส่วนสูงไม่เพิ่มเท่าที่ควร จึงไม่ควรใช้ในวัยรุ่นตอนต้น ผู้ที่มีความสูงตามมาตรฐาน ถ้าใช้ก็ไม่น่ามีปัญหา แนะนำให้ใช้ยาที่มีเอสโตรเจนขนาดต่ำๆ เช่น 15,20 ไมโครกรัม ซึ่งมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนน้อยกว่า หรืออาจใช้ยาคุมที่มีโปรเจสเตอโรนอย่างเดียว ที่แนะนำให้ใช้ คือ desogestrel (Cerazette) ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการตกไข่ได้ ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดจึงสูงกว่า minipill หรือ progesterone only pill ดั้งเดิม (Exluton) ข้อสำคัญในการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดในวัยรุ่น คือ ต้องให้วัยรุ่นรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ 3. ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน ส่วนใหญ่วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ไม่ปรารถนา มักเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้คุมกำเนิดมาก่อน ยังมีวัยรุ่นจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถเข้าถึงการบริการคุมกำเนิดด้วยสาเหตุต่างกัน เมื่อมีเพศสัมพันธ์แล้ววิธีที่จะป้องกันการตั้งครรภ์ได้ คือ การคุมกำเนิดฉุกเฉิน ซึ่งมีอยู่หลายชนิด เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน และห่วงอนามัย ซึ่งยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินสำหรับวัยรุ่นมี 2 กลุ่ม คือ 1.) Yuzpe regimen ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ชนิดที่มี Ethinyl Estradiol (EE) และ Norgestrel หรือ Levonorgestrel รวมกันในขนาดสูง เช่น ยาเม็ดที่มี EE 30 ไมโครกรัม และ Levonorgestrel 150 ไมโครกรัม โดยรับประทานครั้งละ 4 เม็ด ครั้งแรกภายใน 72 ชั่วโมง หลังมีเพศสัมพันธ์ และรับประทานอีก4 เม็ด ใน 12 ชั่วโมงต่อมา 2.) ใช้โปรเจสโตรเจนขนาดสูง ได้แก่ Levonorgestrel 750 ไมโครกรัม (เช่น Postinor และ Madonna) 1 เม็ดรับประทานครั้งแรกภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ และรับประทานอีก1 เม็ด ใน 12 ชั่วโมงต่อมา ปัจจุบันองค์การอนามัยแนะนำว่าอาจใช้ 2 เม็ดครั้งเดียว เพื่อป้องกันการลืมและวิธีนี้จะได้ผลดีกว่า Yuzpe regimen เล็กน้อย และอาการข้างเคียงน้อยกว่า ไม่ควรแนะนำให้วัยรุ่นใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินเกินเดือนละ 3-4 ครั้ง ถ้ามีเพศสัมพันธ์บ่อยควรใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดธรรมดาจะดีกว่า และภายหลังการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน 3 สัปดาห์ ถ้าระดูยังไม่มาควรไปตรวจว่ามีการตั้งครรภ์หรือไม่ ในกรณีที่มีเพศสัมพันธ์เกิน 72 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 120 ชั่วโมง การใช้โปรเจสโตเจนขนาดสูง 2 เม็ด ก็สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้มากพอควร แต่ไม่ดีเท่าใช้ภายใน 72 ชั่วโมง หลัง 120 ชั่วโมงไปแล้ว ไม่แนะนำให้ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินเพราะจะไม่ได้ผล และถ้าตั้งครรภ์แล้วยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉินจะไม่สามารถทำให้เกิดการแท้งได้ 4. ยาฉีดคุมกำเนิด ที่นิยมใช้กัน คือ DMPA ขนาด 150 มิลลิกรัม ฉีดเข้ากล้ามทุก 12 สัปดาห์ ได้ผลดีในด้านคุมกำเนิด แต่อาจมีการเพิ่มของน้ำหนักตัวมากกว่าปกติ จึงต้องแนะนำวัยรุ่นให้ควบคุมน้ำหนักและออกกำลังกาย การฉีดยาคุมอาจทำให้ระดูมาไม่ปกติอาจไม่มาหรือมากะปริบกะปรอย วัยรุ่นอาจกลัวว่าจะตั้งครรภ์ ต้องแนะนำอาการที่อาจเกิดขึ้นก่อนให้บริการ ยาฉีดคุมกำเนิดสามารถใช้ได้ในวัยรุ่น แม้ว่าจะทำให้ความหนาแน่นของมวลกระดูกลดลงเล็กน้อย แต่จะกลับมาคงที่เมื่อหยุดยาฉีด 5. ยาฝังคุมกำเนิด ปัจจุบันการใช้ Norplant ไม่นิยมและไม่มีการใช้ในรายใหม่เพราะมีจำนวนหลอดมากดและการถอดยาฝังออกยาก จึงได้มีการใช้ยาฝังชนิดหลอดเดียว ชื่อ Etoplan หรือ Implanon แต่ละแท่งมีฮอร์โมน etonogestrel 68 mg ซึ่งเป็นโปรเจสเตอโรน ที่เมตตาบอไลท์ ของ desogestrel ที่อยู่ในยาเม็ดคุมกำเนิดที่ใช้กันมานาน ยาฝังนี้ใช้ฝังและถอดง่ายกว่า คุมกำเนิดได้ 3 ปี จึงเหมาะกับวัยรุ่นซึ่งอาจลืมรับประทานยาบ่อยๆ หรือไม่สามารถเก็บยาไว้ในที่ที่ผู้ปกครองไม่เห็นได้ 6. แผ่นแปะผิวหนังคุมกำเนิด ปัจจุบันที่ใช้ คือ Evra เป็นแผ่นสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 20 ตารางเซนติเมตร กลไกการออกฤทธิ์เช่นเดียวกับยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ใช้แปะแผ่นละ 1 สัปดาห์ ใช้ ต่อเนื่องกัน 3 สัปดาห์ และเว้น 1 สัปดาห์ บริเวณที่แปะ คือ สะโพก หน้าท้อง ต้นแขนด้านนอก แผ่นหลังช่วงบน โดยเมื่อเปลี่ยนแผ่นจะไม่แปะซ้ำรอยเดิม ประสิทธิภาพของแผ่นแปะเหมือนกับยาเม็ดคุมกำเนิด จากการศึกษาพบว่าผู้ใช้สามารถใช้แผ่นแปะได้ดีกว่ายาเม็ดคุมกำเนิด ซึ่งต้องรับประทานทุกวัน วิธีนี้วัยรุ่นสามารถใช้ได้ และแน่ใจว่ากำลังคุมกำเนิดอยู่โดยคลำแผ่นได้ 7. ห่วงอนามัย ที่แนะนำให้ใช้สำหรับวัยรุ่น คือ Cupper IUDเช่น Multiload 250 ใช้ได้ 3 ปี Multiload 375 ใช้ได้ 5 ปี และ Cupper T 380A ใช้ได้ 10 ปี เป็นต้น เพราะมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูง อาการข้างเคียงไม่มาก แต่ไม่เหมาะสำหรับวัยรุ่นที่ไม่เคยตั้งครรภ์ เพราะอาจมีปัญหาในการใส่ห่วงอนามัย แต่ถ้าวัยรุ่นที่เคยตั้งครรภ์ แท้งหรือคลอดบุตร การใส่ห่วงอนามัยจะทำได้ไม่ยาก ห่วงอนามัยสามารถใช้เป็นวิธีคุมกำเนิดฉุกเฉินวิธีหนึ่งโดยใส่ห่วงอนามัยภายใน 7 วันหลังมีเพศสัมพันธ์ ไม่ควรใช้ในรายที่มีการอักเสบในอุ้งเชิงกราน สรุป วัยรุ่นมักเลือกใช้วิธีการคุมกำเนิดที่มีลักษณะ ดังต่อไปนี้ ใช้ง่าย ไม่จุกจิก ไม่ต้องพบแพทย์บ่อย ไม่ต้องตรวจภายใน สามารถใช้ได้โดยไม่ต้องเปิดเผยว่าตนเองกำลังคุมกำเนิด และราคาถูกเนื่องจากวัยรุ่นยังไม่มีรายได้

Gyne2012